15 เรื่องน่ารู้เขาหลวง สุโขทัย พิชิตธรรมชาติสวย ได้ใจนักท่องเที่ยวสายลุย
เขาหลวง สุโขทัย นับเป็นหนึ่งในที่เที่ยวที่นักท่องเที่ยวสายผจญภัยต่างอยากจะขึ้นไปพิชิตให้ได้สักครั้ง ด้วยเพราะบรรยากาศธรรมชาติที่ยังคงสวยงาม จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแม้หนทางที่ยากลำบาก ที่นี่ก็ยังมีเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมากมายอยากพิชิตเขาหลวง จังหวัดสุโขทัย
แต่สำหรับใครที่ฟังชื่อแล้วยังไม่คุ้น วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ทั้งสวยและน่าค้นหาที่สุดที่หนึ่งของเมืองไทยกันค่ะ
ภาพจาก gopfaster / Shutterstock.com
1. เขาหลวง สุโขทัย ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุโขทัย ด้วยความสูงระดับ 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วย 4 ยอดเขา คือยอดพระเขาเจดีย์ ยอดเขาพระแม่ย่า ยอดเขาภูกา และยอดเขานารายณ์
2. ระยะทางสำหรับเส้นทางพิชิตเขาหลวง จากที่ทำการอุทยาน ไปจนถึงยอดเขาเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร (เป็นทางเดินขึ้นลูกเดียว)
3. เส้นทางท่องเที่ยวบนเขาหลวง นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นได้เองโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ ด้วยเพราะเส้นทางเดินค่อนข้างชัดเจน และมีป้ายบอกอยู่แทบทุกจุด
4. ใครเดิน ๆ อยู่แล้วหิวน้ำ ตลอดระยะทางเดินจะมีน้ำกรองอยู่เป็นจุด ๆ ตามทาง ซึ่งเป็นน้ำที่มาจากยอดเขา นักท่องเที่ยวสามารถเติมน้ำได้เลย หรือใครจะสะดวกพกขวดน้ำของตัวเองไปด้วยก็ไม่ว่ากัน
5. สำหรับสัมภาระต่าง ๆ จะมีลูกหาบคอยให้บริการ (ราคากิโลละ 25 บาท และราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง) แต่ถ้าคุณมาเที่ยวช่วงวันหยุด แนะนำให้รีบมาแต่เช้า เพราะลูกหาบที่นี่มีจำนวนไม่มาก โดยเขาหลวงจะเปิดให้ขึ้นเวลา 08.00 น. และทางอุทยานจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดเขาหลวงหลังเวลา 15.30 น.
ภาพจาก Thosapon.s/Shutterstock.com
6. ก่อนเดินทางพิชิตเขาหลวง แนะนำให้คุณทานอาหารรองท้องมาให้เรียบร้อย และซื้อมื้อกลางวันติดไปเผื่อทานระหว่างทางนั่งพักด้วยจะดีมาก
7. ระหว่างทางเดินนักท่องเที่ยวจะพบว่าจะมีแมลงมาไต่ตอมอยู่ตลอด ๆ ดังนั้นอย่าลืมพกอุปกรณ์และครีมทากันแมลงไปด้วยนะคะ ดีไม่ดีเกิดแพ้ขึ้นมากลางคันจะทำให้ทริปหมดสนุกเอาเสียเปล่า ๆ
8. ถึงแม้ว่าข้างบนจะมีร้านค้าสวัสดิการให้บริการแทบทุกอย่าง (แต่ราคาอาจค่อนข้างสูง) แนะนำว่าให้คุณเตรียมพกอาหารไปด้วย อย่างพวกอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รับรองว่าพกขึ้นไปไม่ผิดหวัง และเตรียมอุปกรณ์สิ่งของจำเป็น เช่น เสื้อกันหนาว หมวก ไฟฉาย และยารักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ เป็นต้น
ภาพจาก gopfaster/Shutterstock.com
9. ไม่ต้องห่วงเรื่องห้องน้ำ เพราะมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำบนจุดกางเต็นท์ โดยแบ่งแยกหญิง-ชายเอาไว้เสร็จสรรพ เรียกได้ว่าค่อนข้างสะดวกเลยทีเดียว
10. สัญญาณโทรศัพท์ของที่นี่ใช่ว่าจะตัดขาดจากโลกภายนอกเลยเสียทีเดียว เพราะมีสัญญาณเป็นบางจุด พอให้คุณได้ตอบแชทและอัปรูปได้พอเป็นพิธี
11. นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอเช่าเต็นท์และจ่ายเงินได้ที่ทำการอุทยานข้างล่าง และนำใบเสร็จไปรับของข้างบน ซึ่งประกอบด้วยเต็นท์ แผ่นรองนอน ผ้าห่ม และหมอน หรือนักท่องเที่ยวคนไหนที่นำเต็นท์มาเอง จะต้องเสียค่าเช่าสถานที่คนละ 30 บาท
12. เมื่อถึงบริเวณจุดกางเต็นท์ ใช่ว่าถึงจุดความสวยงามของเขาหลวง การเดินทางไปยังจุดชมวิวต่าง ๆ นักท่องเที่ยวต้องเดินต่อจากจุดกางเต็นท์ (ซึ่งเป็นเส้นทางเดินง่าย ๆ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวได้) โดยถ้าอยากชื่นชมบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกดิน ให้มาที่ "เขาพระแม่ย่า" ถ้าอยากชื่นชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ให้มาที่ "เขาพระนารายณ์"
13. สำหรับนักท่องเที่ยวคนไหนที่อยากชื่นชมทะเลหมอกสวย ๆ แนะนำให้มาช่วงหน้าฝน (ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม) หรือไม่ก็เป็นช่วงหน้าหนาว (ประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม) คุณจะเห็นละอองหมอกลอยหยอกล้อทิวเขา ที่ไม่ว่าใครได้เห็นเป็นต้องลืมไม่ลง
14. ระยะเวลาการเที่ยวบนเขาหลวง สุโขทัย ปกตินักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน 1 คืน แต่ถ้าอยากเที่ยวให้ทั่วต้อง 3 วัน 2 คืน แถมอุทยานยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นตลอดทั้งปี คราวนี้จะวางแผนมาเที่ยวเมื่อไรก็ได้สบายหายห่วง
15. นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเขาหลวง จะต้องเสียค่าเข้าอุทยาน สำหรับผู้ใหญ่ ราคา 40 บาท/คน และเด็ก ราคา 20 บาท/คน (นักท่องเที่ยวสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติรามคำแหง โทรศัพท์ 087313 7897)
เขาหลวง สุโขทัย จึงเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยังคงความมีเสน่ห์และน่าค้นหา อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวสายผจญภัยทั้งหลาย จำเป็นต้องระมัดระวังในการเดินทาง รวมถึงประเมินศักยภาพของตัวเองด้วยว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และคุณจะได้เสพธรรมชาติสวย ๆ ที่เขาหลวง สุโขทัย ได้อย่างมีความสุขและฟินสุด ๆ ไปเลยนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก เขาหลวง สุโขทัย, thai.tourismthailand.org, dnp.go.th,travel.kapook.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น