เที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น จังหวัดสระบุรี


อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น ประกอบด้วยภูเขาน้อยใหญ่ มีที่ราบในหุบเขา ยอดที่สูงที่สุดคือ เขาครก สูงประมาณ ๓๒๙ เมตร เป็นจุดชมวิวที่อยู่สูงที่สุดสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ที่สวยงามรอบ ๆ ตัวเมืองสระบุรี
และอำเภอใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นที่ส่องกล้องดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม สภาพพื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ สัตว์ป่าที่พบมีอยู่หลายชนิด เช่น ไก่ฟ้า ไก่ป่า เก้ง ลิง หมูป่า และนกชนิดต่าง ๆ  เช่น เขียวคราม กระรางหัวหงอก โพระดก บั้งรอกใหญ่ รวมทั้งผีเสื้อนานาชนิด 


 ภายในบริเวณอุทยานฯ มีน้ำตกหลายแห่ง ได้แก่ น้ำตกสามหลั่น เป็นลานหินกว้างเรียงซ้อนกันเป็นสามชั้นมองดูคล้ายบันได ซึ่งเป็นที่มาของชื่อน้ำตก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๓๐๐ เมตร น้ำตกโพธิ์หินดาษ ห่างจากที่ทำการประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวเตี้ยๆ สามารถลงเล่นน้ำได้ บริเวณน้ำตกเป็นลานหินกว้าง มีต้นโพธิ์แผ่กิ่งก้านสาขา 

และต้นน้ำที่ไหลมายังน้ำตกโพธิ์หินดาดยังไหลไปสู่ น้ำตกโตนรากไทร ซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๔๐๐ เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวตกลงมาจากหน้าผาหินสูง ๗ เมตร สู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง รอบ ๆ แอ่งน้ำมีโขดหินน้อยใหญ่ใช้เป็นที่นั่งชมน้ำตกได้  ทางอุทยานฯ ได้ทำเส้นทางเดินเท้าเชื่อมโยงระหว่างน้ำตกเหล่านี้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง โดยไม่ต้องย้อนกลับเส้นทางเดิม   น้ำตกจะมีความสวยงามมากที่สุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนตุลาคม



 อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น เดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย หรือ อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น มีพื้นที่ครอบคลุม ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง แก่งคอย หนองแค และวิหารแดง มีเนื้อที่ประมาณ ๔๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒๗,๘๕๖ ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม  เป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น เหมาะสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน



อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองแค อำเภอวิหารแดง และอำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ป่าเขาสามหลั่นอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มาก มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สภาพธรรมชาติป่าเขา น้ำตกที่สวยงาม โดยเฉพาะน้ำตกเขาสามหลั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวรู้จักกันเป็นอย่างดี ทางคมนาคมสะดวกสบาย สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปกลับได้ในวันเดียว อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น มีเนื้อที่ประมาณ 27,856.25 ไร่ หรือ 44.57 ตารางกิโลเมตร

แต่เดิมอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น ได้รับการจัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกสามหลั่น อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติพระฉายทั้งหมด มีเนื้อที่ 24 ตารางกิโลเมตร ในความรับผิดชอบของป่าไม้เขตสระบุรี ต่อมาเมื่อกรมป่าไม้จัดตั้งกองอุทยานแห่งชาติขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2517 จึงได้โอนวนอุทยานน้ำตกสามหลั่นมาขึ้นกับกองอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในอดีตป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ใช้พื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ ทำหลุมหลบภัย มีการตัดไม้ ทำฟืน ทำถ่านหุงหาอาหาร และทำถนน ทำให้ป่าธรรมชาติบางส่วนถูกทำลายลง ในปี พ.ศ. 2503 จึงได้เริ่มทำการปลูกป่าทดแทนให้สภาพป่าฟื้นตัวขึ้นมา และเมื่อได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้สภาพป่าฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น

ต่อมา ในปี 2519 กรมป่าไม้ได้ให้กองอุทยานแห่งชาติ พิจารณาป่าพระฉาย กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงให้วนอุทยานน้ำตกสามหลั่นไปทำการสำรวจ ซึ่งวนอุทยานน้ำตกสามหลั่นได้มีหนังสือรายงานผลการสำรวจว่า บริเวณป่าพระฉายเป็นภูเขาสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สภาพป่าสมบูรณ์ดี มีน้ำตกที่สวยงาม และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ



กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2519 เห็นสมควรให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าพระฉายและน้ำตกสามหลั่น ในท้องที่ตำบลหนองนาก ตำบลห้วยทราย ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี ตำบลบ้านลำ ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง และตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 85 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 27 ของประเทศ

ต่อมาในปี 2543 อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมราชการและได้แนะนำว่า ควรเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่นเป็น อุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย โดยกรมป่าไม้พิจารณาแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และสภาพของพื้นที่ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น เป็นอุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติพระพุทธฉาย เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น




พืชพรรณและสัตว์ป่า

สภาพ ป่าประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ แดง ประดู่ พลวง เต็ง รัง ตะเคียนทอง มะค่า ตะแบก เป็นต้น และพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่ทำการสำรวจไว้กว่า 800 ชนิด ส่วนไม้พื้นล่างเป็นพวกไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ตลอดจนหวาย และกล้วยไม้ เป็นต้น

สำหรับสัตว์ที่มีอาศัยอยู่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ไก่ฟ้า ไก่ป่า เก้ง กระจง ลิง หมูป่า กระรอก กระแต และนกชนิดต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งคาดว่าจะสูญพันธุ์ ไปแล้ว 




อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น
ตู้ ปณ.10 ต.หนองปลาไหล  อ. เมืองสระบุรี  จ. สระบุรี   18000
โทรศัพท์ 0 3671 3829 -30, 081- 4336388, 081-9667853   โทรสาร 0 3671 3829   อีเมล samlan2008@thaimail.com เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th

ติดต่อ: 
โทรศัพท์ 0 3671 3829 -30, 081- 4336388, 081-9667853 โทรสาร 0 3671 3829 อีเมล samlan2008@thaimail.com เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th

สถานที่ตั้ง: 
ต.หนองปลาไหล อ. เมืองสระบุรี จ. สระบุรี 18000

ที่มา : http://2017.sadoodta.com/,pantip.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถ้ำฟิงกอล (Fingals Cave) ประเทศสก็อตแลนด์ (Scotland)

พาเที่ยว "ถ้ำผานางคอย" จังหวัดแพร่

พาเที่ยว "เขาทะลุ" ชุมพร แวะชิมกาแฟเขาทะลุที่ขึ้นชื่อ